เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพมัลล
บุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่าน
รูปใดเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
เจ้าวัฑฒลิจฉวีถูกสงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภคกับสงฆ์แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

พระอานนท์ไปแจ้งข่าวเจ้าวัฑฒลิจฉวี
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์
ของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒลิจฉวีดังนี้ว่า “วัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรท่าน
ห้ามสมโภคกับสงฆ์” ครั้นเจ้าวัฑฒลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภค
กับสงฆ์ จึงสลบล้มลงที่นั้นเอง
ขณะนั้น มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒ ลิจฉวี
ดังนี้ว่า “ท่านอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย พวกเราจะขอให้พระผู้มีพระภาคและ
ภิกษุสงฆ์ยกโทษให้”
ครั้งนั้นแล เจ้าวัฑฒลิจฉวีพร้อมกับโอรสและชายา มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิต
มีผ้าเปียกผมเปียก1 เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ซบศีรษะ
ลงแทบพระยุคลบาทแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ หม่อม
ฉันได้กระทำความผิด เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตร
ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อภัยโทษแก่หม่อมฉัน เพื่อความสำรวม
ต่อไปเถิด”

เชิงอรรถ :
1 การสรงน้ำดำเกล้า จนผ้าเปียกผมเปียกนี้ เป็นเครื่องแสดงความเศร้าโศกก่อนเข้าขอขมา เช่น พระเจ้าอุเทน
ไปขอขมานางสามาวดี พระองค์ทรงดำลงในน้ำจนพระพัสตร์และพระเกสาเปียกแล้วไปมอบแทบเท้าขอขมา
(องฺ.อฏฺฐก.อ. 1/388)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :47 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “เอาเถิด การที่ท่านได้ทำความผิดเพราะความโง่เขลา
เบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล เพราะเหตุที่เห็นความ
ผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรารับ เพราะการที่บุคคลเห็นความผิดเป็น
ความผิดแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น
สงฆ์จงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้

เหตุแห่งการหงายบาตร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ
1. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย
2. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย
3. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
4. ไม่ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย
5. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
6. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
7. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม
8. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้

วิธีหงายบาตรและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์
ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สงฆ์คว่ำบาตรข้าพเจ้า ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ข้าพเจ้า
นั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้แล้ว ขอการหงายบาตรกับสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ.


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :48 }